(ไม่คุ้ม!!) ผลวิจัย มศว ชี้ชัด แจกแท็บเล็ตเด็ก ป.1
ผลวิจัย มศว ชี้ชัดแจกแท็บเล็ต ป.1 ไม่คุ้ม ระบุ แจกเด็กโตคุ้มค่ากว่า ย้ำ ไม่ควรให้เด็กเอาแท็บเล็ตกลับบ้าน ด้านครู/ผู้บริหาร เสนอไม่จำเป็นต้องแจกแท็บเล็ตเด็กทุกคน แนะทำ One Tablet One Projector หรือ Smart Board ช่วยประหยัดงบได้มาก อธิการ มศว ยันผลวิจัยไม่สะท้อนเชิงลบ เพราะมีเวลาศึกษาน้อย พร้อมยื่นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ข้อให้รัฐ
ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว แถลงข่าวผลรายงานสรุปผลการศึกษานำร่อง “โครงการนำร่อง การประยุกต์และบูรณาการคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา” ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ระยะที่ 1 ว่า มศว ได้ทำการศึกษาทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ด้วยวิธีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลโดยตรงและจากแบบทดสอบการตรวจสุขภาพ วิธีการสังเกต สัมภาษณ์ รวมถึงศึกษาความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากนักเรียน ครูผู้สอน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา
ทั้งนี้ มศว ได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ทำการศึกษากับนักเรียน 2 ช่วงชั้น คือ ชั้น ป.1 และ ป.4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 ใน 5 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนราชวินิต (ฝ่ายประถม) กรุงเทพมหานคร, โรงเรียนอนุบาลลำปาง จ.ลำปาง, โรงเรียนอนุบาลพังงา จ.พังงา, โรงเรียนสนามบิน จ.ขอนแก่น และโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม โดยใช้ระยะเวลาทดลองในชั้นเรียน 6-7 สัปดาห์ในช่วงต้นเดือนมกราคม-มีนาคม 2555 โดยจำแนกผลการใช้แท็บเล็ตที่ส่งผลต่อ ผู้เรียน, ครูประจำชั้น/ครูผู้สอน และผู้ปกครอง/ชุมชน ดังนี้ ด้านผู้เรียน ส่งผลใน 2 ส่วน คือ พฤติกรรม การเรียนรู้โดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางนั้น ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการฝึกหัด และทำกิจกรรมที่หลากหลาย จนพบความถนัดของตนเอง แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านประสบการณ์เรื่องเทคโนโลยี การฝึกคิดหลายวิธี และการสร้างสรรค์ ตลอดจนความสนใจใฝ่รู้ นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็ก ป.4 เรียนรู้ได้เร็วกว่า มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเด็ก ป.1 และแตกต่างกันในแต่ละโรงเรียนด้วย ด้านการเรียนรู้ในห้องเรียน นักเรียนมีความสุข กระตือรือร้น และไม่พบปัญหาเด็กติดเกม ส่วนด้านสุขภาพ พบว่า สุขภาพตา นักเรียนปวดตา เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการใช้แท็บเล็ต เนื่องจากกลุ่มที่ไม่ใช้แท็บเล็ตก็มีการใช้สายตามองดูวัตถุในระยะใกล้ไม่แตกต่างกัน และมีค่าสายตาเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
ด้านครู พบว่า พฤติกรรมการสอนครูต้องพึ่งความช่วยเหลือจากผู้ช่วยด้านเทคนิคระหว่างการสอนที่ใช้แท็บเล็ต เพราะหากครูไม่ชำนาญการใช้แท็บเล็ต การเรียนการสอนก็จะยุติ เนื่องจากไม่สามารถพลิกหน้ากลับไปมาได้ แล้วต้องกลับไปใช้หนังสือสอนแทน ซึ่งทั้งครูและผู้บริหารมองว่าการให้นักเรียนเรียนรู้จากสื่อในแบบรายบุคคลพร้อมกันทั้งห้องทำได้ยากสำหรับการดูแล และควบคุมเวลา เนื่องจากผู้เรียนมีความแตกต่างกัน และยังพบปัญหาในเรื่องความพร้อมของนักเรียน ป.1 ทั้งนี้ ทัศนคติของครูที่มีต่อแท็บเล็ตนั้น พบว่า แท็บเล็ตไม่ได้เป็นตัวแทนครู แท็บเล็ตเป็นสื่อทันสมัยและช่วยแบ่งเบาภาระครู ช่วยเปิดโลกให้กว้างขึ้น เป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักเรียนและครู และการเรียนรู้จากแอปพลิเคชันต่าง ๆ ช่วยให้นักเรียนฝึกทักษะแบบ Learning by Doing อย่างแท้จริงและช่วยเด็กได้ฝึกประสบการณ์ทางภาษาอีกด้วย
“มีข้อเสนอแนะด้วยจากผู้บริหารและครูด้วยว่า ไม่ควรให้นักเรียนนำแท็บเล็ตกลับบ้าน และต้องอบรมครูอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมองว่าไม่จำเป็นต้องแจกแท็บเล็บให้เด็กมีทุกคน แต่อาจจะจัดอุปกรณ์ไอซีทีที่จำเป็นสำหรับการสอน เช่น คอมพิวเตอร์และจอโปรเจกเตอร์ โดยเสนอ One Tablet One Projector หรือ Smart Board ซึ่งจะสามารถช่วยในการประหยัดงบประมาณได้” อธิการ มศว กล่าว
ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญ มองว่า การใช้แท็บเล็ตไม่สามารถสอนเพิ่มได้ในเรื่องจริยธรรม และจะเกิดปัญหาขึ้นบนสื่อออนไลน์ ขณะที่ผู้ปกครองและชุมชนให้ความสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบในกรณีแท็บเล็ตเสียหาย หรือสูญหาย และความไม่พร้อมของเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่บ้านอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ ซึ่งสิ่งที่ผู้ปกครองและชุมชนต้องการ คือ จัดให้มีการอบรมผู้ปกครอง เพื่อดูแลบุตรหลานได้ และเห็นว่าไม่ควรให้นำแท็บเล็ตกลับบ้าน เพราะจะเกิดปัญหาการดูแลและความปลอดภัย อีกทั้งต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องเครือข่าย WiFi ในระดับชุมชน
ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม คณะทำงานศึกษาโครงการ ได้ให้ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายแก่รัฐบาล 5 ข้อ ดังนี้ 1.ควรมีการจัดทำแผนแม่บทในการแจกแท็บเล็ต โดยให้มีผลถึงผู้บริหารสถานศึกษา ครูประจำชั้น ครูประจำกลุ่มสาระ และมีผลต่อนักเรียน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนมีผลถึงผู้ปกครองด้วย 2.กรณีที่จะแจกแท็บเล็ตอย่างกว้างขวางต้องมีการพัฒนาเนื้อหาให้ครบถ้วน และมีความน่าสนใจ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสนใจมากขึ้นกว่าการเรียนในหนังสือ 3.จัดหาบุคลากรที่จะเข้ามาช่วยครูทางเทคนิคในทุกโรงเรียน อย่างน้อยละโรงเรียนละ 1 คน 4.ถ้ามีงบประมาณจำกัดและจำเป็นต้องเลือกแจกในบางชั้น ควรแจกแท็บเล็ตเด็ก ป.4 ก่อน ป.1 และ 5.ถ้างบประมาณจำกัดไม่จำเป็นต้องแจกนักเรียนทุกคน โดยเปิดเป็นห้องเรียนแท็บเล็ต และจัดตารางเรียนให้นักเรียนหมุนเวียนกันมาใช้ ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบฯ แล้วนำมาพัฒนาครู จ้างช่างเทคนิค และพัฒนาเนื้อหาต่างๆ ได้ รวมถึงสามารถกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่โรงเรียนอื่นๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
“ผลการศึกษายังไม่สามารถชี้ชัดถึงผลกระทบในเชิงลบที่เกิดขึ้นชัดเจนใน ป.1และ ป.4 เพราะระยะเวลาศึกษาไม่นานพอที่จะให้เกิดผลลบได้ ส่วนผลบวก ป.4 มีความชัดเจนมากกว่า ป.1 เพราะสามารถใช้ประโยชน์ในการค้นหาข้อมูลได้คุ้มค่ากว่า และเรียนรู้ได้เร็วกว่าในเรื่องการจัดการ สร้างสรรค์ ประเมิน และบูรณาการ” ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวและว่า การศึกษาครั้งนี้ใช้งบจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่ง มศว จะส่งผลการศึกษาให้ สพฐ.และนำเสนอรัฐบาล ส่วนรัฐบาลจะนำไปใช้ทบทวนนโยบายแจกแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนชั้น ป.1 ทั่วประเทศหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล แต่เมื่อผลการศึกษาระบุว่า แจก ป.4 คุ้มค่ากว่า ป.1 แล้วรัฐบาลยังเดินหน้าแจก ป.1 ก็ต้องตอบคำถามสาธารณชนให้ได้ว่าเพราะอะไร ซึ่ง มศว อยากจะเห็นการตัดสินใจนโยบายเชิงสาธารณะที่ใช้งบจำนวนมากบนพื้นฐานของข้อมูล โดยใช้โครงการนี้เป็นตัวนำร่อง ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก
(ข้อมูลผู้จัดการออนไลน์)
No comments:
Post a Comment