Tuesday 12 June 2012

ห่วง น.ศ.ซิ่ว-รีไทร์ เหตุมหาวิทยาลัยรัฐ รับตรงเพิ่มหลังแอดมิสชั่นส์


นายพงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม ประธานคณะทำงานแอดมิสชั่นส์ฟอรั่มของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยกรณีที่นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ระบุว่ามียอดนักศึกษามารายงานตัวเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2555 ประมาณ 9,000 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ 12,000 คน ว่า ปัญหาผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ แล้วสละสิทธิแต่ละปีมีไม่มาก แต่ที่มีจำนวนมากกว่าคือ นักศึกษาที่ลาออกมาแอดมิสชั่นส์ใหม่ และนักศึกษาที่โดนรีไทร์ เพราะผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยมีตัวเลขไม่เท่ากัน แต่ภาพรวมในแต่ละปีอยู่ระหว่าง 5-12% หรือประมาณ 10,000 คน จากที่แอดมิสชั่นส์ผ่านเข้าเรียนไปเรียนประมาณ 1 แสนคน ที่ผ่านมาแต่ละมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาดังกล่าวต่างคนต่างแก้ปัญหากันภายใน โดยส่วนตัวเห็นว่า ทปอ.ควรจะต้องนำมาหารือกันในภาพรวม เพราะถือเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากเมื่อนักศึกษาลาออก หรือโดนรีไทร์ จะทำให้รัฐต้องเสียทรัพยากร และงบประมาณที่สนับสนุนการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้ สำหรับแนวโน้มของนักศึกษาซิ่ว และโดนรีไทร์ มีสถิติคงที่ ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น

"ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนให้เด็กที่แอดมิสชั่นส์ได้แล้วสละสิทธิ เพราะมีมหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่งยังเปิดรับตรงนักศึกษาเพิ่มอีก แม้จะประกาศผลแอดมิสชั่นส์เสร็จแล้ว จึงทำให้เด็กมีทางเลือก และสละสิทธิไปสมัครรับตรงใหม่ เพื่อเรียนในสาขาวิชาที่ชอบมากกว่าที่แอดมิสชั่นส์ได้ ซึ่งคณะที่เปิดรับตรงเพิ่มจะเป็นภาคพิเศษต่างๆ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีความพยายามให้มหาวิทยาลัยต่างๆ รับตรงให้เสร็จก่อนแอดมิสชั่นส์ แต่ในช่วงหลังกลับรับตรงเพิ่มหลังจากแอดมิสชั่นส์เสร็จกันมากขึ้น ถึงแม้การสละสิทธิเข้าเรียนต่อมีไม่มาก และไม่ได้สร้างผลกระทบกับมหาวิทยาลัยมาก แต่ส่งผลให้การรับนักศึกษาเข้าไปเรียนไม่เต็มตามแผนการรับ" นายพงษ์อินทร์กล่าว

นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯมีปัญหานักศึกษาสละสิทธิน้อยมาก และขณะนี้กำลังให้แต่ละคณะรวบรวมข้อมูลอยู่ว่าผู้ที่สละสิทธิมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง นอกจากนี้ จะให้ศึกษาข้อมูลนิสิตที่ลาออกเพื่อสอบเข้ามาเรียนใหม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะอะไร เนื่องจากการซิ่วของนิสิตถือเป็นการสูญเสียทางด้านงบประมาณของรัฐ ซึ่งจุฬาฯมีนิสิตกลุ่มนี้อยู่จำนวนหนึ่ง และมีแทบทุกคณะ/สาขาวิชา ฉะนั้น จำเป็นที่จะต้องมาดูปัญหาส่วนนี้ ส่วนการสละสิทธิการเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาเป็นสิ่งที่แก้ปัญหาได้ยาก เพราะเด็กต้องการที่จะเรียนตามความชอบของพวกเขา เมื่อได้เข้าเรียนในคณะ/สาขาที่ไม่ถูกใจก็จะสละสิทธิ